เหตุแห่งการฟ้องหย่า 10 ประการ

ในการขอหย่าฝ่ายเดียว โดยอาศัยเหตุฟ้องหย่า  ปกติความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสเมื่อตอนที่ความรักยังหวานชื่น คบหากัน จากนั้นก็มีการจดทะเบียนสมรส แต่งงานกันเป็นสามีภรรยา อยู่ไปต่อมาความสัมพันธ์เริ่มจะไปกันไม่ได้ คุยกันไม่รู้เรื่อง สุดหนทางที่จะแก้ไขแล้ว ซึ่งทางสุดท้ายที่จะต้องมีการตัดสินใจนั่นคือ การตัดสินใจหย่าขาดจากกัน ในบางคู่ที่ยังพอจะคุยกันรู้เรื่องอยู่ หรือเป็นคนมีเหตุผล ทั้งคู่สามีภรรยา สามารถจูงมือกันไปจดทะเบียนการหย่าได้ แต่ว่าถ้าหากไม่ยอมหย่าขาดจากกันโดยความยินยอมทั้งสองฝ่าย ก็ต้องมาดูว่า มีเข้าเหตุแห่งการหย่าหรือไม่ ทั้งนี้เพราะถ้าในเมื่อทั้งคู่ไม่มีใจให้แก่กันแล้ว การฝืนอยู่ร่วมกันต่อไป มีแต่ทำให้สุขภาพจิตเสื่อมเสียลง และไม่เป็นผลดีกับทั้งสองฝ่าย ดังนั้นในเรื่อง การฟ้องหย่าจึงเป็นการ ฟ้องหย่าฝ่ายเดียว เมื่อคู่สมรสซึ่งจดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีความประสงค์จะหย่า เราสามารถจำแนกแบ่งการหย่าออกได้เป็น 2 รูปแบบ

 

1.การหย่าโดยความยินยอม โดยการที่คู่กรณีทั้งสองคนตกลงกันไปจดทะเบียนหย่า ณ ที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ โดยไปจดทะเบียนหย่า ที่ใดก็ได้ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องเป็นสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่ทั้งคู่จดทะเบียนสมรส โดยคู่สามีภรรยาต้องไปพร้อมกัน ณ สถานที่ที่จดทะเบียนหย่า

2.การหย่าโดยการฟ้องหย่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้หย่าขาดจากัน เรานำคำพิพากษาของศาล ไปจดทะเบียนการหย่าแทนการแสดงเจตนาของคู่กรณี เป็นการฟ้องหย่าฝ่ายเดียว ซึ่งต้องมี เหตุแห่งการฟ้องหย่า มิเช่นนั้นจะไม่สามารถฟ้องหย่าได้ ถึงต้องมาดูว่าอะไรบ้างที่เป็น เหตุแห่งการฟ้องหย่า ซึ่งต้องวิเคราะห์ให้ดี ว่าเข้าเหตุแห่งการหย่า ตามมาตรา 1516 นี้หรือไม่ ถ้าไม่เข้าเหตุแห่งการหย่า ก็ไม่สามารถ ฟ้องหย่าฝ่ายเดียวได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่า 10ประการ

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

ฝากข้อความ&ติดต่อ Nitilaw
Click หาเรา

เราต้องนำข้อเท็จจริงมาวิเคราะห์ว่า มันเข้าเหตุแห่งการฟ้องหย่า 1 ใน 10 ประการนี้ หรือไม่ ประการใด เมื่อมีเหตุแล้วจึงจะสามารถไปดำเนินการขอ ฟ้องหย่าฝ่ายเดียว เมื่อศาลมีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุด บังคับให้จำเลยจดทะเบียนการหย่า แต่หากจำเลยไม่กระทำตามก็ทำการนำคำพิพากษาของศาล ให้นำใบคดีถึงที่สุดไป จดทะเบียนการหย่าแทนการแสดงเจตนาของคู่กรณี ทำให้มีการหย่าโดยคำพิพากษาเกิดขึ้นได้

 

ซึ่งตามข้อเท็จจริงจะต้องวิเคราะห์ดีๆว่ามีเหตุฟ้องหย่า หรือมีเหตุแห่งการฟ้องหย่า ตามที่ระบุไว้ในกฎหมายนี้หรือไม่ ถ้าหากไม่มีฟ้องไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะจะไม่สามารถหย่าได้นั่นเอง ดังนั้นการเล่าข้อเท็จจริงในส่วนนี้ให้กับทนายได้รับรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก สมควรเล่าข้อเท็จจริงตามจริง เพราะมันมีผลต่อรูปคดี ถ้ามันไม่มีเหตุแห่งการหย่า แล้วเรามาฟ้องร้องดำเนินคดี มันก็ไม่มีประโยชน์เพราะท่านจะเสียค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง

 

คู่สมรสบางคนอยู่กันมาตั้งนานอยากจะแยกจากกัน แต่อีกคนไม่ยินยอมจดทะเบียนหย่าให้ อีกทั้งไม่เข้าเหตุฟ้องหย่า ตามมาตรา 1516 นี้ ซึ่งต้องวิเคราะห์กันต่อไปว่าจะหย่ากันได้อย่างไร บางคนอยู่กันด้วยทิฐิ บางคนต้องการเอาชนะ คนในเมื่อใจมันไม่อยู่กันแล้วก็ไม่ต้องอยู่กันต่อไปเพราะอยู่ไปก็จะมีแต่ทะเลาะและเสียสุขภาพจิต

 

กว่าจะคบกันจีบเป็นแฟนกว่าจะตกลงปลงใจแต่งงานกันและจดทะเบียนสมรสนั้นใช้เวลา แต่พอจะจดทะเบียนหย่าก็ไม่สามารถพูดคุยตกลงกันได้ เมื่อใจทั้งสองคนไม่ต้องการจะอยู่ด้วยกันอีกต่อไปแล้ว การจากกันด้วยดี แค่จดทะเบียนการหย่าให้แก่กันและกัน และจัดการทรัพย์สินและจัดการเรื่องอำนาจปกครองบุตร ให้เป็นระบบระเบียบเรียบร้อย แค่นี้ก็จะ Happy Ending แล้ว

 

ทนายก็ไม่ได้ต้องการให้ท่าน ดำเนินการฟ้องหย่า โดยใช้เหตุแห่งการหย่า เพราะว่าหากเป็นคดีความในศาล มันเสียค่าทนายความ ทั้งท่านทั้งคู่ก็จะเกิดรอยแผลในใจ มากกว่าเดิมมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

สิ่งที่จะต้องกระทำภายหลังการหย่า 

เมื่อมีการหย่าแล้วเราก็ต้องมีภารกิจที่จะต้องตามมาอย่างแน่นอน เพราะระหว่างจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สามีภรรยากันก็ได้กระทำการสิ่งต่างๆไว้หลายอย่าง

1.เรื่องทรัพย์สินของสามีภรรยา ทำบัญชีทรัพย์สิน สิ่งใดเป็นสินสมรสและทรัพย์ใดเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย สินสมรสก็เป็นของสามีและภรรยาฝ่ายละครึ่ง แบ่งกันไปจัดสรรกันไปตามสัดส่วนของใครของมัน ต้องไปตรวจสอบดูว่าทรัพย์สินของใครมีจำนวนเท่าไหร่ ส่วนสินส่วนตัวนั้น เป็นของใครของมัน ไปยุ่งกันไม่ได้

2.เรื่องหนี้สิน ตรวจสอบเลยว่าหนี้สินไหนเป็นหนี้ร่วม หนี้สินใดเป็นหนี้ของแต่ละฝ่าย หากหนี้ใดเป็นหนี้ของสามีหรือหนี้ของภรรยาเพียงฝ่ายใดฝ่ายเดียว ผู้นั้นก็ต้องรับผิดชอบในหนี้สินด้วยตนเอง แต่หากเป็นหนี้ร่วม ทั้งสองคนสามี-ภรรยา ก็ต้องช่วยกันจัดการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ ซึ่งอาจจะมีหนี้สินบางส่วนที่สามีหรือภรรยาไปก่อหนี้เอาไว้แล้วไม่ได้บอกกัน ก็อาจจะได้รู้ตอนนี้ก็เป็นไปได้

3.เรื่องอำนาจปกครองบุตร สามีหรือภรรยาเป็นผู้ดูแล โดยทั่วไปผู้หญิงมักจะดูแลบุตรได้ดีกว่าผู้ชาย แต่ไม่แน่เสมอไปนะ โดยเฉพาะบุตรธิดาที่ยังเล็ก ควรมีผู้ปกครองดูแล แต่ไม่แน่เสมอไปบางกรณีผู้ชายอาจดูแลบุตรได้ดีกว่าผู้หญิงก็ได้

 

เมื่อเข้าเหตุแห่งการฟ้องหย่า 10 ประการ เรื่องราวยังไม่จบ ยังมีเรื่องราวที่ต้องตามมา ให้ดำเนินการอีกหลายเรื่อง อันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งเรามนุษย์ก่อขึ้นไว้ ในฐานะคู่สามีภรรยา ซึ่งได้สมรสกันอย่างถูกต้อง จึงต้องคิดไว้ให้ดี เพราะว่าในเมื่อเป็นมนุษย์แล้ว มันก็มีภาระและหน้าที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชีวิตมนุษย์ความรับผิดชอบเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ไม่ว่าท่านจะยากดีมีจนประการใด คิดถึงจุดนี้เอาไว้

 

หย่ากันทำไม

เรื่องการหย่าและการฟ้องอย่างนี้มันเป็นปัญหาครอบครัวด้วยส่วนหนึ่ง บางครั้งคนนอกอาจจะไม่เข้าใจปัญหานี้ และการตัดสินใจอยู่ที่คู่กรณีคือคู่สมรสทั้งสองคนนี้นั่นเอง

บางครั้งมีเหตุแห่งการฟ้องหย่าเช่น ภรรยาไปมีชู้ ผู้ชายสามีมีเหตุฟ้องหย่าแล้ว แต่บางคนอาจจะไม่ใช้สิทธิ์นี้เป็นเหตุฟ้องหย่าก็ได้ อาจจะยินยอมเนื่องจากรักภรรยาและลูกของตนเองมาก และมีการพูดคุยปรับความเข้าใจกันแล้วแบบนี้ก็ได้ เป็นเรื่องครอบครัวคนนอกไม่รู้รายละเอียดทั้งหมด

 

เมื่อมีเหตุฟ้องหย่า แสดงว่ามีสิทธิ์ในการใช้เหตุฟ้องหย่ามาฟ้องเป็นคดี เพื่อใช้คำพิพากษาของศาลทำให้มีการอยากจะขึ้น ซึ่งเขาอาจจะไม่ใช้สิทธิ์นั้นก็ได้ก็คือไม่ใช้สิทธิ์ฟ้องอย่างนั้นเอง

 

ตัวอย่างเหตุฟ้องหย่า

เราจะมาดูเหตุการณ์ตามจริงว่าเหตุการณ์ใดเข้า เหตุแห่งการฟ้องหย่าตามมาตรา  1516 อนุ 1-10 หรือไม่ประการใดซึ่งเป็การขอ ฟ้องหย่าฝ่ายเดียว อย่างน้อยเพื่อเป็นการวิเคราะห์เบื้องต้น แต่ถ้าท่านใดที่จะวิเคราะห์ให้ละเอียดถี่ถ้วนสมควรที่จะไปสอบถามพูดคุยกับทนายความมันจะดีกว่า เพราะว่ารายละเอียดมันมีความซับซ้อน แต่ละข้อเท็จจริงไม่เหมือนกัน และต้องอ่านฎีกาประกอบด้วย จึงจะวิเคราะห์ได้ว่าข้อเท็จจริงใดเข้าเหตุแห่งการหย่าและสามารถฟ้องหย่าฝ่ายเดียวได้

 

ประสบการณ์เรื่องฟ้องหย่า

เนื่องจากการหย่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคดีครอบครัว ทางกฎหมายเมื่อเข้าเหตุหย่า ก็สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้เลย แต่ในความเป็นจริง มันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองคน บางทีการมาฟ้องร้องเป็นคดีอาจจะทำให้มีการเสียความรู้สึกเกิดขึ้นระหว่างสองฝ่าย

การพูดคุยกันระหว่างสามีภรรยาเป็นสิ่งที่ ทนายคิดว่าดีกว่าเยอะ ไม่ต้องมาเสียค่าบริการ ทำให้เป็นผลดีกับท่านและบุตรหลานของท่านด้วย

แยกกันอยู่ กี่ปี ถึงจะฟ้องหย่าได้

กรณีแรกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งร้าง

1516(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
ความหมายคือถ้าสามีเป็นคนจงใจละทิ้งร้างไปเกิน 1 ปี ภรรยาเป็นคนฟ้องหย่า หรือในทางกลับกันถ้า ภรรยาจงใจละทิ้งร้างไปเกิน 1 ปีสามีก็จะเป็นคนฟ้องหย่า

กรณีสองทั้งสองฝ่ายสมัครใจแยกกันอยู่

(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

หวังว่าคงได้คำตอบว่าแยกกันอยู่กี่ปีจึงจะฟ้องหย่าได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุของการหย่า 10 ประการ ตาม ปพพ.มาตรา1516

ไลน์สอบถามกฎหมาย ที่




 

บทความ: รวมทั้งหมดคดีอาญาคดีแพ่งศาลเป็นจำเลยกฎหมายทั่วไป


กรอกข้อมูล ส่งเรื่องให้เรา

* ข้อมูลทุกอย่างถูกเก็บเป็นความลับ เรานำมาใช้เพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหา ในทางคดีให้กับท่านเท่านั้น
* โปรดแอดไลน์หาเราที่ id:  @vmw5257c เพื่อจะได้ไม่พลาดการติดต่อ